ประวัติความเป็นมา

งานวิทยาการตำรวจ เริ่มมีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2475

โดยเริ่มจากในสมัยนั้น มีประชากรประมาณ 14 ล้านคน ได้มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้จัดวางโครงการตำรวจขึ้นใหม่โดยเปลี่ยนชื่อ "กรมตำรวจภูธร" เป็น "กรมตำรวจ" และให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดแบ่งแผนงานโดยย่อยออกไปตามสมควรแก่รูปการ ในปีเดียวกันนั้น พระยาจ่าเสนาบดีศรีบริบาล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้จัดแบ่งแผนงานในกรมตำรวจสำหรับตำรวจสันติบาลโดยประกาศไว้ ดังนี้ ตำรวจสันติบาล ให้รวบรวมกรมตำรวจภูธร ตำรวจกองพิเศษ กับตำรวจภูธรกลางเป็นตำรวจสันติบาล มีหัวหน้าเป็นผู้บังคับการ 1 นาย แบ่งเป็นกองที่ 1 ,กองที่ 2, กองที่ 3 และกองตำรวจแผนกสรรพากร สำหรับกองที่ 3 มีระเบียนงานดังนี้ กองนี้เป็นกองวิทยาการตำรวจซึ่งต้องให้ผู้มีความรู้พิเศษ เช่น การตรวจพิสูจน์ลายมือของผู้ต้องหาหรือผู้ที่สมัครเข้ารับราชการว่าเคยต้องโทษมาแล้วหรือไม่ บันทึกประวัติของผู้กระทำความผิด การตรวจของกลางต่างๆออกรูปพรรณของหายและออกประกาศสืบจับผู้ร้ายซึ่งหลบคดีอาญา จึงสรุปได้ว่ากองที่ 3 ของตำรวจสันติบาลในสมัยนั้น คือ จุดกำเนิดของ กองทะเบียนประวัติอาชญากรและกองพิสูจน์หลักฐาน ต่อมา พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมต่างๆ ในกระทรวงมหาดไทยกำหนดงานของกรมตำรวจขึ้นใหม่ ซึ่งสำหรับกองตำรวจสันติบาลได้กำหนดไว้ดังนี้.

• กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้าย
• กองกำกับการ 2 สืบสวนราชการพิเศษ
• กองกำกับการ 4 ทะเบียนตำรวจ

• กองกำกับการ 3 เทคนิคตำรวจ แบ่งเป็น 5 แผนกคือ แผนกทะเบียนพิมพ์ลายนิ้วมือ , แผนกบันทึกแผนประทุษกรรม , แผนกพิสูจน์หลักฐาน , แผนกบัญชีโจรผู้ร้าย , แผนกเนรเทศ และในปี พ.ศ. 2480 เพิ่มแผนกที่ 6 ทะเบียนต่างด้าว และไปอยู่ในสังกัดอื่น เมื่อ พ.ศ. 2484

ในปี พ.ศ. 2484 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 16 ล้านคน จึงได้มีการปรับปรุงและขยายงานของกรมตำรวจโดยจัดตั้ง "กองสอบสวนกลาง" พร้อมทั้งแยกงานทางด้านวิทยาการจากกองตำรวจสันติบาลมาขึ้นตรงต่อกองสอบสวนกลาง ในปี พ.ศ.2489 เปลี่ยนชื่อจากกองสอบสวนกลางเป็น กองตำรวจสอบสวนกลาง และในปี พ.ศ. 2491 มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน กิจการของกองตำรวจสอบสวนกลางได้เจริญรุดหน้า จึงยกฐานนะขึ้นเป็นกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และในกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนั้น มีกองกำกับการหรือเรียกว่า "กองพิเศษ" และในปี พ.ศ.2495 ได้จัดตั้งกองวิทยการขึ้นใหม่ 12 พ.ค. 2496 ขณะนั้นมีประชากรประมาณ 23 ล้านคน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเพิ่มกองบังคับการใหม่ขึ้นอีก 4 กองบังคับการ พร้อมทั้งได้มีการยุบ "กองพิเศษ" ไปรวมกับ "กองวิทยาการ" ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อต้องการให้ดำเนินงานทางด้าน พิสูจน์วัตถุพยาน ซึ่งเป็นงานของกองพิสูจน์หลักฐาน และการตรวจพิสูจน์ค้นคว้าตัวบุคคล ซึ่งเป็นงานของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งถือเป็นรากฐานของ "กองพิสูจน์หลักฐานและกองทะเบียนประวัติอาชญากร. ".

กองวิทยาการ แบ่งออกเป็น 3 กองกำกับการ คือ

• กองกำกับการ 1 ประกอบด้วยแผนกถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ แผนกเอกสารและวัตถุ แผนกหอทดลอง และแผนกพิพิธภัณฑ์ทางคดี

• กองกำกับการ 2 ประกอบด้วยแผนกตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ แผนกตรวจเก็บลายพิมพ์นิ้วมือ แผนกการต้องโทษ และแผนกบันทึกแผนประทุษกรรม

• กองกำกับการ 3 ประกอบด้วยแผนกสถิติคดีอาชญากร แผนกสถานดูตัว แผนกสืบจับและของหายได้คืน                                                                           

13 ก.ย.2503 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานใหม่โดยยุบ "กองวิทยาการ" ซึ่งตั้งมาได้ 7 ปี 4 เดือน 16 วัน ออกจากสารบบทำเนียบราชการตำรวจ โดยแยกงานของกองนี้เป็น 2 กอง คือ กองพิสูจน์หลักฐาน และกองทะเบียนประวัติอาชญากร โดยการแยกงานด้านการพิสูจน์วัตถุพยาน และงานตรวจสอบพิสูจน์ค้นคว้าในด้านดัวบุคคลออกจากกัน และได้มีการปรับปรุงหน่วยงานทั้งสองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนั้น กองพิสูจน์หลักฐาน และกองทะเบียนประวัติอาชญากร จึงได้ถือกำเนิดเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการขึ้นตรงต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2503 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2500 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย โดยมองเห็นถึงความสำคัญของงานวิทยาการตำรวจ กรมตำรวจ จึงได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกาในสัญญาที่เรียกว่า The Civil Police Administation Project (C.P.A.) ในสมัย Mr.Tracey Park เป็นผู้อำนวยการ การช่วยเหลือเน้นหนักทางด้านวิทยาการตำรวจ และได้มีการลงนามในสัญญากับประเทศสหรัฐอเมริการะหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น กับองค์การบริหารวิเทศกิจสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย U.S.O.M. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2500 และการปรับปรุงการบริหารงานตำรวจในส่วนภูมิภาคก็เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2513 U.S.O.M. ได้หยุดให้ความช่วยเหลือการปรับปรุงวิทยาการในส่วนภูมิภาค จึงทำให้งานปรับปรุงวิทยาการในส่วนภูมิภาคหยุดชะงักลง จนถึงพ .ศ. 2523 ในสมัยของ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธ์คงชื่น เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้ไปตรวจราชการในส่วนภูมิภาค ได้พบว่างานด้านวิทยาการขาดประสิทธิภาพ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงวิทยาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานวิทยาการในส่วนภูมิภาคให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2533 ประชากรมีจำนวนประมาณ 56 ล้านคน และเนื่องจากลักษณะงานของวิทยาการอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย วิทยาการตำรวจในส่วนกลาง คือ กองทะเบียนประวัติอาชญากร และกองพิสูจน์หลักฐาน มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับกองบัญชาการตำรวจภูธร อันเป็นปัญหาทั้งทางด้านการสรรหาคนเข้ามาปฏิบัติงาน การพัฒนาบุคลากร การรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่จะปฏิบัติงาน เนื่องมาจากการขาดขวัญและกำลังใจ ความก้าวหน้าในชีวิตราชการต่ำ อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริหารงานบุคคลและองค์การโดยตรง จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง โดยรวมเอาหน่วยงานวิทยาการตำรวจในส่วนกลางและภูมิภาคไว้ด้วยกัน จัดตั้งเป็น "สำนักงานวิทยาการตำรวจ" ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2535 โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 7 กองบังคับการ ดังนี้.

• กองบังคับการอำนวยการ
• กองวิทยาการภาค 1
• กองวิทยาการภาค 4

• กองพิสูจน์หลักฐาน
• กองวิทยาการภาค 2
 

• กองทะเบียนประวัติอาชญากร
• กองวิทยาการภาค 3
 

ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นกองบังคับการที่อยู่ในสังกัด สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยแบ่งส่วนราชการระดับกองบังคับการ 4 กองบังคับการ ดังนี้

• กองตำรวจสื่อสาร
• ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี

• กองทะเบียนประวัติอาชญากร
• ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง

โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร แบ่งส่วนราชการระดับกองกำกับการ 7 กองกำกับการ ดังนี้

• งานอำนวยการ
• ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 3
• กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญ

• ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 1
• ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 4
 

• ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2
• ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 5
 

ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552 ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นกองบังคับการที่อยู่ในสังกัด สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยแบ่งส่วนราชการ ดังนี้

• กองบังคับการอำนวยการ
• กองพิสูจน์หลักฐานกลาง
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 3
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 6
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 9

• สถาบันฝึกอบรมและวิจัยนิติวิทยาศาสตร์
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10

• กองทะเบียนประวัติอาชญากร
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 2
ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5
• ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 8


กองทะเบียนประวัติอาชญากร อาคาร 7 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330